- 1. ชื่อนวัตกรรม
“TKSCOUT Model”
ความหมายของแต่ละตัวอักษรของ “TKSCOUT Model” มีดังนี้
T = Target (เป้าหมาย)
จัดประชุมผู้บริหาร ครู กรรมการสถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง ชี้แจงวิสัยทัศน์ และร่วมกันสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาองค์กรให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
K = Knowledge (ความรู้)
จัดกระบวนการเรียนรู้ด้านลูกเสือและด้านอื่นๆที่หลากหลาย ทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
S = Service Mind (จิตบริการ)
การมีหัวใจในการบริหารและช่วยเหลือผู้ร่วมงานในทุกระดับอย่างเสมอภาคด้วยจิตสาธารณะ
C = Community (ชุมชนแห่งการเรียนรู้)
สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) ในการแลกเปลี่ยนความรู้ให้กันและกันกับชุมชนในพื้นที่โดยรอบโรงเรียน
O = Organization (องค์กรแห่งการเรียนรู้)
การพัฒนาองค์ความรู้ด้านลูกเสือและด้านอื่นๆอย่างไม่สิ้นสุด
U = Unity (ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว)
บุคลากรภายในองค์กรมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
T = Technology (เทคโนโลยี)
ใช้เทคโนโลยีในการเผยแพร่กิจกรรมลูกเสือและกิจกรรมอื่นๆทั้งแอพพลิเคชัน Facebook, LINE, และ YouTube ในรูปแบบของรูปภาพ และวิดีโอ
- 2. ประเภทของนวัตกรรม
นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ เป็นการใช้นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ สารสนเทศมาช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารการศึกษาให้มีความรวดเร็วทันเหตุการณ์ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ระบบการจัดการฐานข้อมูลของหน่วยงานสถานศึกษา เกี่ยวกับฐานข้อมูล นักเรียน นักศึกษา ฐานข้อมูลครู อาจารย์ และบุคลากรในสถานศึกษา ฐานข้อมูลด้านการเงิน บัญชี พัสดุ และครุภัณฑ์ (พิชิต ฤทธิ์จรูญ, 2559, 85)
- 3. รายชื่อผู้พัฒนานวัตกรรม
คณะครูและผู้บริหารโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงามร่วมกันพัฒนานวัตกรรม
- 4. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม เปลี่ยนแปลงไปอย่าง รวดเร็วทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ทันต่อภาวการณ์ปัจจุบัน การพัฒนานวัตกรรมจึงเป็น สิ่งที่หน่วยงานควรให้ความสำคัญ หน่วยงานจะต้องมีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมในการบริหารและการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้หน่วยงานสามารถเดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ อย่างดี ตลอดจนส่งเสริมให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมด้วยการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือปรับปรุง สิ่งที่มีอยู่เดิมไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ หรือรูปแบบการทำงานใหม่ ผ่านการประเมินผลได้ ผลเสียอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้แก่หน่วยงานจะทำให้หน่วยงานมีความได้เปรียบ และมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น
อีกทั้งยังต้องการแก้ปัญหาที่มีภายในโรงเรียน ทั้งในด้านความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบุคลากรในองค์กร ด้านความรู้ที่จะถ่ายทอดไปยังผู้เรียน เชื่อมโยงให้ถึงชุมชน ไปจนถึงด้านจิตสาธารณะ หรือจิตบริการ ดังที่ มนต์จรัส วัชรสิงห์, เบญจวรรณ บุณยะประพันธ์,และสุนทรี ศักดิ์ศรี, 2558 อ้างอิงใน ชมพู เนินหาด, เพ็ญนภา พิสัยพันธุ์, ดาราวรรณ รองเมือง (2563, น.34) กล่าวว่า จิตบริการ (Service mind) เป็นหัวใจสำคัญของงานบริการ ผู้ให้บริการที่มีจิตบริการที่ดีจะมีการแสดงออกของพฤติกรรมที่เหมาะสม ทำให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจ ได้แก่ ให้บริการด้วยรอยยิ้ม ใช้คำพูดที่เหมาะสม แสดงออกถึงความพร้อมและความเต็มใจในการให้บริการ ด้วยกิริยาท่าทางและน้ำเสียงที่นุ่มนวล มีน้ำใจที่จะช่วยเหลือหรือเสนอแนะสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ และเปิดใจรับฟังคำติชม การบริการที่ดี สร้างความประทับใจให้ผู้รับบริการ ทำให้ผู้รับบริการนึกถึงและกลับมาใช้บริการอีก หรือมีการบอกต่อในทางที่ดี ซึ่งจะสร้างชื่อเสียงให้กับองค์กรและตัวผู้ปฏิบัติ ในทางตรงกันข้ามหากผู้ใดที่ให้บริการไม่ดีย่อมส่งผลให้ผู้รับบริการรู้สึกไม่พึงพอใจทั้งตัวผู้ปฏิบัติและองค์กร รู้สึกผิดหวังและไม่มาใช้บริการหรือมีการบอกต่อในทางที่ไม่ดี เปรียบดั่งครูเป็นผู้ให้บริการ และผู้เรียนเป็นผู้รับบริการ
จากที่กล่าวมาข้างต้น ทางคณะผู้บริหารโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงามเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนา จึงได้มีการสร้างชุดความคิดหรือนวัตกรรม “TKSCOUT Model” นี้ขึ้นมาร่วมกับคณะครูในโรงเรียน
- 5. วัตถุประสงค์
5.1 เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการให้องค์กรมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมายเดียวกัน จะส่งผลให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สามารถร่วมกันสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ อีกทั้งยังร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนในหลายๆด้าน ทั้งในด้านทฤษฎีและด้านการปฏิบัติ
5.2 เพื่อเข้าถึงชุมชนโดยรอบรั้วโรงเรียน
5.3 เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสาร รวมถึงความรู้ต่างๆ ให้เท่าทันต่อโลกยุคสมัยปัจจุบัน มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านความรู้ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ
5.4 เพื่อให้ทั้งคณะครูและนักเรียน เข้าถึงความมีจิตบริการ
- 6. วิธีการดำเนินการ
มีการประชุมกันระหว่างคณะผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม เพื่อร่วมกันคิดค้นร่วมกันสร้างชุดความคิดหรือนวัตกรรมนี้ขึ้นมาให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน โดยมีวิธีการดังนี้
6.1 การเข้าใจปัญหา นำปัญหามาอภิปรายกัน
6.2 การกำหนดปัญหา กำหนดที่ได้จากการอภิปราย
6.3 การแก้ปัญหา วิธีแก้ปัญหาของปัญหาที่กำหนดขึ้นได้จากการอภิปราย
6.4 การสร้างนวัตกรรม สร้างนวัตกรรมที่ครอบคลุมถึงวิธีการแก้ปัญหาของปัญหานั้น
- 7. ผลการสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมการศึกษา
5.1 องค์กรมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมายเดียวกัน มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สามารถร่วมกันสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ อีกทั้งยังร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนในหลายๆด้าน ทั้งในด้านทฤษฎีและด้านการปฏิบัติ
5.2 ผู้เรียนเข้าถึงชุมชนโดยรอบรั้วโรงเรียน ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้จากสถานที่จริง ฟังข้อมูลต่างๆ อาทิเช่น ประวัติชุมชน วิถีความเป็นอยู่ การทำอาหารท้องถิ่น เป็นต้น ทั้งจากปราชญ์ชาวบ้าน หรือบุคคลอื่นที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านที่ผู้เรียนต้องการศึกษาอย่างแท้จริง
5.3 มีการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร รวมถึงความรู้ต่างๆ ให้เท่าทันต่อโลกยุคสมัยปัจจุบัน มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านความรู้ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Facebook, LINE, และ YouTube เป็นต้น ทั้งในรูปแบบของรูปภาพ และวิดีโอ
5.4 คณะครูและนักเรียน เข้าถึงความมีจิตบริการ